ภาวะไขมันเลือดสูง ป้องกันอย่างไร?

การป้องกันการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้ ด้วยการควบคุมการรับประทานอาหาร ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยป้องกันการเกิดความเสี่ยงของการเกิดโรค

อาการและการแสดงอาการ

โรคไขมันในเลือดสูงจะไม่แสดงอาการอะไร จะทราบก็ต่อเมื่อเจาะเลือดตรวจหาระดับไขมันแต่ละชนิด แต่หากมีระดับไขมันในเลือดสูงแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือโรคบางอย่างตามมา เช่น เป็นตับอ่อนอักเสบ ส่งผลให้ปวดท้อง เมื่อระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมาก อาจเกิดปื้นหนาสีเหลืองบริเวณผิวหนังที่หนังตา ฝ่ามือ ซึ่งเกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอลที่ผิวหนัง ชั้นใต้ผิวหนัง   ผู้ป่วยที่มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เมื่อเกิดการอุดตันจะมีอาการแสดงของการขาดเลือดจากอวัยวะนั้น เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดส่วนปลายที่ขาอุดตัน
Artboard 1 copy 2

แนวทางในการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง

สิ่งแรกที่ควรทำคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง

  1. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที จำนวน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยหวังประสิทธิผลต่อการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  2. ควบคุมการรับประทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ไม่มากเกินไป ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว หรือไขมันทรานส์
  3. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  4. งดสูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุทำให้ไขมันดี HDL-C ลดต่ำลง
  5. เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแป้งมาก อาหารที่มีน้ำตาลสูงและเครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาล เพราะจะทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง
  6. ปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินการรักษาที่เหมาะสมว่าควรได้รับยาเพื่อลดปริมาณไขมันในเลือดหรือไม่
  7. ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงร่วมและตรวจติดตามระดับไขมันในเลือด

การรักษา

  1. ควบคุมการรับประทานอาหาร โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมันสัตว์ นม เนย ไข่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ส่วนที่ติดมันทุกชนิด หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง เป็นต้น
    • ใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันจากสัตว์
    • ใช้วิธีการนึ่ง ต้ม อบ อาหาร แทนการทอด หรือผัด
    • ควรเพิ่มอาหารพวกผักต่างๆ และผลไม้ เพื่อให้มีเส้นใยอาหารและกากมากขึ้น เพราะกากใยเหล่านี้จะช่วยให้ดูดซึมไขมันลดน้อยลง
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเบียร์ เหล้า และรับประทานขนมหวาน เพราะจะสะสมกลายเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง คือ ออกกำลังกายครั้งละประมาณ 30-40 นาที และอย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์
  3. งดการสูบบุหรี่ นอกจากจะช่วยรักษาภาวะไขมันผิดปกติในเลือกได้แล้ว ยังจะช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วย
  4. ลดน้ำหนักตัวหรือควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้อ้วนเกินเกณฑ์ปกติ
  5. ถ้าท่านมีโรคประจำตัวที่ทำให้ระดับไขมันในเลือดสูง เช่น โรคเบาหวาน โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง โรคของต่อมไร้ท่อบางอย่าง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาและปฏิบัติตนที่ถูกต้อง

 

 

 

ข้อมูลสนับสนุนจาก : MedPark Hospital และ Nakornthon Hospital