ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ก่อนเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจคือระดับคอเลสเตอรอล การสูบบุหรี่ เบาหวาน และความดันโลหิต การมีสุขภาพที่ดีจะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ ซึ่งทำได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้ การออกกำลังกาย ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายมักมีแนวโน้มที่จะประสบภาวะหัวใจวายได้มากถึง 2 เท่า การออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์เป็นเวลา 30–60 นาทีใน 4–5 วันต่อสัปดาห์ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินและควบคุมโรคเบาหวาน รวมถึงคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
เพื่อป้องกันโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรวางแผนในการรับประทานอาหาร ดังนี้

  • รับประทานอาหารประเภทไขมันต่ำและกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่วและธัญพืชที่มีคอเลสเตอรอล ไขมันอิ่มตัว และโซเดียมในระดับต่ำ ซึ่งช่วยควบคุมน้ำหนัก ความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลได้
  • รับประทานปลาที่มีกรดไขมันสูง เช่น ปลาซาดีน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า หรือปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่เชื่อกันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าบุคคลทั่วไปควรรับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 หน่วยบริโภค
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น อาหารแปรรูปประเภทไส้กรอกหรือลูกชิ้น เนย ชีส เค้กและอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าว
  • ลดและจำกัดปริมาณเกลือไม่เกิน 6 กรัมหรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน เพื่อลดอัตราการเกิดความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ การรับประทานน้ำมันปลาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากมีไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างโอเมก้า 3 ซึ่งช่วยในการไหลเวียนเลือด ลดการอักเสบ ลดระดับไตรกลีเซอไรด์และความดันโลหิต อีกทั้งน้ำมันปลาบางยี่ห้ออาจมีการเพิ่มสารสำคัญเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น แอสตาแซนธินที่มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระและป้องกันโรคในระบบหลอดเลือดหัวใจ หรือวิตามินอีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พร้อมทั้งจะช่วยให้น้ำมันปลาในร่างกายอยู่ในปริมาณที่คงที่

 

ปริมาณและความเหมาะสมในการรับประทานน้ำมันปลาจะขึ้นอยู่กับช่วงวัยของแต่ละบุคคล จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อความปลอดภัย

งดสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่คือปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ สารนิโคตินในบุหรี่ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดและกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ยังทำหน้าที่ลดปริมาณออกซิเจนในเลือดและทำลายผนังเลือดอีกด้วย

งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
หากไม่สามารถงดเว้นได้ ควรควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสมหรือไม่เกิน 14 แก้วต่อสัปดาห์และไม่ควรดื่มอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจวายได้

ควบคุมความเครียด
ควรฝึกวิธีการควบคุมความเครียด เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อและการหายใจ เป็นต้น

ตรวจสุขภาพ
ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสุขภาพหัวใจและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจที่อาจเกิดขึ้น

ควบคุมความดันโลหิต
ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการควบคุมความดันโลหิตที่เหมาะสมกับอายุและอาการของตนเอง และควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและรับประทานยาลดความดันโลหิตร่วมด้วยเพื่อการควบคุมที่ดียิ่งขึ้น


ควบคุมคอเลสเตอรอล
แพทย์จะแนะนำวิธีการที่เหมาะสมในการลดคอเลสเตอรอล ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปตามอายุและข้อจำกัดของผู้ป่วยแต่ละคน

 

ควบคุมโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยจึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดน้ำหนักส่วนเกิน และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับ 130/80mmHg


การรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาอาการและระงับภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ และไม่ควรหยุดรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงและทำให้อาการต่าง ๆ แย่ลงได้

 

 

 

ข้อมูลสนับสนุนจาก : เพจ pobpad