การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ

หากอาการไม่ดีขึ้นผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งมีหน้าที่ลดความดันโลหิตหรือขยายหลอดเลือดเพื่อให้การไหลเวียนและการสูบฉีดเลือดในหัวใจดีขึ้น ยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงจึงควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยาหากไม่ได้รับการยืนยันจากแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงได้

การรักษาด้วยการใช้ยา ยาที่ใช้มีตัวอย่างเช่น

  • กลุ่มยาคอเลสเตอรอล ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด โดยเฉพาะในส่วนของไขมันร้ายหรือ LDL ซึ่งมักจับตัวสะสมในหลอดเลือดหัวใจ 
  • ยาต้านเกล็ดเลือด
  • ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ ใช้รักษาความดันโลหิตสูงและป้องกันอาการเจ็บหน้าอก โดยการปิดกั้นฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือด และลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวายเช่นกัน
  • ยาขยายหลอดเลือด มีทั้งในรูปแบบเม็ด สเปรย์ หรือแผ่นสำหรับติดบริเวณผิวหนัง ยาประเภทนี้ทำหน้าที่ลดความดันโลหิตและอาการปวดบริเวณหัวใจ แต่อาจทำให้ปวดหัวและมึนงงได้
  • ยาช่วยลดความดันโลหิตและยังช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ยาปิดกั้นแคลเซียม ใช้ในการลดความดันโลหิตโดยการสร้างความผ่อนคลายให้กับกล้ามเนื้อของผนังหลอดเลือด จึงทำให้หลอดเลือดกว้างขึ้น แต่อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว
  • ยาขับปัสสาวะ ช่วยขับน้ำและเกลือส่วนเกินออกจากร่างกายผ่านปัสสาวะ

การรักษาด้วยการผ่าตัด และ กระบวนการทางการแพทย์

ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบและไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่ออาการที่ดีขึ้น เช่น
  • การทำบอลลูนหัวใจ เป็นกระบวนการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกหรือใช้ในการรักษาอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วยต้องได้รับการสวนหลอดเลือดหัวใจก่อนการรักษาด้วยการทำบอลลูน เพื่อประเมินความจำเป็นในการผ่าตัด การรักษาประเภทนี้มักเกิดขึ้นในผู้มีภาวะหัวใจวายฉุกเฉิน ซึ่งใช้การสอดท่อพร้อมบอลลูนเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นจึงทำการสูบลมให้บอลลูนพองตัวขึ้นเพื่อช่วยผลักไขมันที่อุดตันออกจากหลอดเลือดหัวใจ
  • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาสหัวใจ การผ่าตัดชนิดนี้มักใช้กับภาวะหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ หรือการทำบอลลูนไม่สามารถช่วยรักษาได้ ผู้ป่วยต้องได้รับการสวนหลอดเลือดหัวใจก่อนเพื่อทราบถึงความจำเป็นในการรักษา การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้ปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary Artery Bypass: OPCAB) คือวิธีการรักษาที่เป็นที่นิยม มีจุดประสงค์เพื่อให้หัวใจสูบฉีดเลือดเอง โดยไม่ต้องใช้ปอดหรือหัวใจเทียม ศัลยแพทย์จะต่อเส้นเลือดใหม่ข้ามผ่านจุดที่มีการอุดตันเดิม จึงทำให้กระแสเลือดไหลเวียนได้ตามปกติ กระบวนการนี้เป็นการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Open-Heart Surgery) ส่วนใหญ่จึงใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนหลอดเลือดอุดตันมากเท่านั้น
  • การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ใช้สำหรับกรณีที่รุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา หรือหัวใจไม่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์หลังการผ่าตัดเพื่อตรวจสอบการทำงานของหัวใจและผลข้างเคียง

 

 

ข้อมูลสนับสนุนจาก : เพจ pobpad